Home npl เอ็นพีแอลบ้านพุ่ง สินเชื่อรายย่อยสะดุด
เอ็นพีแอลบ้านพุ่ง สินเชื่อรายย่อยสะดุด
By Unknown At 09:33 0
ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์
สินเชื่อรายย่อยสะดุด เอ็นพีแอลบ้านพุ่ง
ดูเหมือนว่าปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิด รายได้ (เอ็นพีแอล) ของสินเชื่อ รายย่อย ยังน่าเป็นห่วง หลังจาก เอ็นพีแอลที่ปูดขึ้นมาใหม่อยู่ในสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเคยเป็นสินเชื่อที่ถูกมองว่าปลอดภัยที่สุดในบรรดาสินเชื่อรายย่อยทั้งหมด เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน
ตัวเลขเอ็นพีแอลเป็นทางการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังเป็นตัวเลข 9 เดือนแรกของปี 2560 ซึ่งสิ้นไตรมาส 3 สัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 2.97% จากระดับ 2.95% เมื่อไตรมาสก่อนหน้า
เมื่อแยกมาเป็นสินเชื่อรายย่อย พบว่า เอ็นพีแอลในสิ้นไตรมาส 3 ของปี 2560 อยู่ที่ 2.74% เพิ่มขึ้นจากระดับ 2.66 เมื่อสิ้นไตรมาส 2 ขณะที่สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็น พิเศษของสินเชื่อรายย่อยไตรมาส 3 อยู่ที่ 3.26% จาก 3.20% ในสิ้นไตรมาส 2
ในรายละเอียดของเอ็นพีแอล สินเชื่อรายย่อย พบว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือสินเชื่อบ้าน เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.26% จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 3.06% ขณะที่สินเชื่อ รายย่อยประเภทอื่นล้วนอยู่ต่ำกว่า 3% ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิตลดลง อยู่ที่ 2.84% สินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 2.68% และสินเชื่อรถยนต์อยู่ที่ 1.63%
ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่ สินเชื่อที่อยู่อาศัยมีอัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็น พีแอล) สูงสุดในบรรดาสินเชื่อรายย่อย น่าเป็นห่วงพอสมควร เพราะสินเชื่อบ้านเป็นสินเชื่อที่ปลอดภัยที่สุด เมื่อกลายเป็นเอ็นพีแอลระดับสูงจึงไม่สบายใจ ต้องรอดูตัวเลขไตรมาส 4 อีกครั้ง
ทั้งนี้ การผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยมาจากปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ของผู้มีรายได้น้อย เป็นหลัก มั่นใจว่าไม่ใช่สัญญาณการเกิดปัญหาซับไพรม์เหมือนในสหรัฐ เพราะการคิดดอกเบี้ยและกำหนดงวดผ่อนชำระแตกต่างกัน ส่วนปัญหาฟองสบู่จากการเก็งกำไรเกิดขึ้นเพียงจุดเล็กๆ ในคอนโดตามแนวรถไฟฟ้าไม่กระทบทั้งระบบ
การเกิดเอ็นพีแอลในสินเชื่อ รายย่อยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบอย่างสินเชื่อบ้าน สะท้อนถึงความอ่อนแอของกำลังซื้อผู้บริโภคอย่างชัดเจน เพราะบ้านเป็นทรัพย์สิน ขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญ คนมัก จะเลือกผิดนัดชำระหนี้เป็นอย่างสุดท้าย เมื่อตัวเลขเอ็นพีแอลบ้าน พุ่งขึ้น หมายถึงรายได้ประชาชน ต้องตึงมือจนไปไม่ไหว
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สังเกตได้ว่า สินเชื่อรายย่อยจะมีประเด็นเอ็นพีแอลให้เป็นห่วงอยู่เสมอ และธนาคารพาณิชย์ต้องปรับแผนการปล่อยสินเชื่อ
โดยลดการขยายสินเชื่อที่มีความเสี่ยง และหันไปเน้นปล่อยสินเชื่อที่เสี่ยงน้อยกว่าทดแทน ทว่าปัญหาเศรษฐกิจซบเซาลากยาวนานเกินกว่าที่คาด ปัญหาเอ็นพีแอลในสินเชื่อรายย่อยจึงเกิดขึ้นมาเป็นลูกโซ่วัฏจักรเอ็นพีแอลสินเชื่อ รายย่อย จะเกิดขึ้นกับสินเชื่อที่เร่งปล่อยไปในช่วง 3 ปีก่อนหน้า โดยปัญหาเอ็นพีแอลสินเชื่อรายย่อย เริ่มที่สินเชื่อรถยนต์ ที่เร่งตัวจากโครงการรถคันแรก ซึ่งผลของโครงการทำให้ปีถัดไปสินเชื่อเช่าซื้อหดตัวและเอ็นพีแอลสินเชื่อรถยนต์พุ่งขึ้น
เมื่อเอ็นพีแอลสินเชื่อรถยนต์พุ่ง ธนาคารพาณิชย์เริ่มชะลอการปล่อยลงพร้อมๆ กับการสะสางเอ็นพีแอล และหันมาเจาะสินเชื่อรายย่อยที่มีผลตอบแทนดี อย่าง สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ด้วยความมั่นใจระบบคัดกรองที่ดี ทำให้อัตราการเติบโต สินเชื่อรายย่อยกลุ่มนี้เป็นที่น่าพอใจ
และแล้ววัฏจักรก็กลับมาอีกครั้ง เมื่อเอ็นพีแอลสินเชื่อบุคคลและบัตร เครดิตปรับขึ้น โดยในปี 2559 เอ็นพีแอลบัตรเครดิตพุ่งไปสูงสุดถึง 5.1% เมื่อไตรมาส 3 ก่อนลดลงมาเหลือ 3.74% ในสิ้นปี สะท้อนการเร่งแก้หนี้อีกระลอกด้วยการตัดขายออก
ผลดังกล่าวรวมทั้งการประเมินความเสี่ยงจากการก่อหนี้ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในระบบ นำมาซึ่งการประกาศหลักเกณฑ์ควบคุมการก่อหนี้สำหรับสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันของ ธปท. ในเวลาต่อมาเมื่อสินเชื่อรายย่อยที่ไม่มีหลักประกันมีความเสี่ยง ทุกธนาคารจึงเบนเข็มไปเน้นลูกค้าสินเชื่อบ้านแทน ซึ่งสิ้นปี 2559 สินเชื่อบ้านเอ็นพีแอลยังอยู่ระดับต่ำเพียง 2.93% แม้จะปรับขึ้นบ้างในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่เกิดนัยสำคัญที่ต้องจับตามอง เพราะอัตราสินเชื่อที่จับตามองเป็นพิเศษของ สินเชื่อบ้านขณะนั้นอยู่ที่เพียง 1.77% เท่านั้น
กระทั่งปี 2560 ปรากฏตามภาพ ที่ออกมาดังกล่าว คือ สินเชื่อบ้านกลายเป็นสินเชื่อที่มีระดับเอ็นพีแอลสูงที่สุดในบรรดา สินเชื่อรายย่อย เพราะสินเชื่อประเภทอื่นถูกแก้ไขปัญหาหนี้ไปหมดแล้วและทำง่ายกว่าจากการตัดขาย ส่วนสินเชื่อ บ้านจะแก้ปัญหายากกว่าเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต่อผู้ที่อยู่อาศัย
ณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ต้องรอลุ้นตัวเลขอย่างเป็นทางการว่าสิ้นไตรมาส 4 ของปี 2560 เอ็นพีแอลสินเชื่อบ้านจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะในช่วงไตรมาสสุดท้ายเป็นฤดูกาลที่หลายธนาคารปล่อยสินเชื่อบ้านได้มากที่สุด ซึ่งสัดส่วนเอ็นพีแอลสามารถลดลงได้ หาก ตัวหารอย่างสินเชื่อเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี เอ็นพีแอลรอบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทั้งอุตสาหกรรม แต่เกิดขึ้นในบางธนาคาร ดังนั้น คงเห็นการเบรกสินเชื่อที่อยู่อาศัยในธนาคารที่มีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น ขณะที่ธนาคารที่ระดับเอ็นพีแอลสินเชื่อบ้านไม่ได้เพิ่มขึ้นก็ยังรุก ขยายสินเชื่อตามปกติ
"ปัญหาเอ็นพีแอลสินเชื่อบ้านที่เพิ่มขึ้นช่วงที่ผ่านมา มาจากลูกค้าเจ้าของกิจการหรือเอสเอ็มอี ที่ทำธุรกิจลำบากตามภาวะเศรษฐกิจและเป็น กลุ่มที่ฟื้นตัวช้ากว่ากลุ่มอื่น ส่งผล กระทบยังการผ่อนชำระทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อบ้านด้วย" ณัฐพล กล่าว
อย่างไรก็ตาม แต่ละธนาคารมีกระบวนการช่วยเหลือลูกค้าให้กลับมาตั้งตัวได้ หากกิจการแย่ชั่วคราวจะปรับโครงสร้างหนี้ให้ เช่น ผ่อนน้อยลงหากภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น ธุรกิจกลับมาคล่องตัว ลูกค้าก็กลับมาชำระหนี้ตามปกติ และเอ็นพีแอลจะปรับลดลงเอง ซึ่งเชื่อว่าจะเห็นเอ็นพีแอลลดลงในปีนี้
ภาพเอ็นพีแอลสินเชื่อบ้านที่ พุ่งขึ้น เป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจระดับรากหญ้าในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) จะเติบโตเป็นตัวเลขสูงขึ้นเพียงใด แต่การเติบโตนั้นยังลงไม่มาถึงรายย่อย
หลายฝ่ายระบุว่าปี 2561 จะเป็น ปีที่การเติบโตของเศรษฐกิจจะเริ่มกระจายตัวมากขึ้น ประชาชนรายย่อยจะเริ่มรู้สึกถึงเศรษฐกิจที่ดี ซึ่งหากเป็นจริง ความกังวลของเอ็นพีแอลสินเชื่อบ้านคงเป็นเพียงระยะสั้น
แต่หากไม่ได้อย่างที่คาดกันไว้ คงต้องมาดูกันว่า วัฏจักรเอ็นพีแอลพุ่งจะไปอยู่ที่สินเชื่อประเภทใด
ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
คอนโด คอนโดมิเนียม ขาย คอนโด ลุมพินี คอนโด คอนโด สร้างใหม่ คอนโด LPN บ้านลุมพินี บ้านเดี่ยวลุมพินี ทาวน์โฮมลุมพินี โฮมออฟฟิศลุมพินี บ้านน่าอยู่ ทาวน์โฮม บ้านพร้อมอยู่
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น
(
Atom
)
แสดงความคิดเห็น