อย.กำหนดปรับปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม


อย.กำหนดปรับปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม

อย.ประกาศปรับข้อกำหนดปริมาณฟลูออไรด์ของน้ำบริโภคจาก 1.5 มก./ล. เป็น 0.7 มก./ล. ป้องกันเด็กรับฟลูออไรด์เกินปริมาณ มีผล 25 ส.ค.นี้

21 ก.ค.53 : นายแพทย์ พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เปิดเผยว่า จากการศึกษาทางระบาดวิทยา พบว่า เด็กที่บริโภคน้ำที่มีฟลูออไรด์มากกว่า 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร มีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันตกกระ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้มีรายงานไว้ว่า ปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำบริโภคที่แนะนำคือ 1.5 มิลลิกรัมต่อน้ำบริโภค 1 ลิตร ซึ่งการกำหนดเป็นมาตรฐานของแต่ละประเทศนั้น ควรคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ภูมิอากาศ ปริมาณฟลูออไรด์ที่ได้รับจากการบริโภคน้ำและอาหารอื่นๆ ร่วมด้วย

ทั้งนี้อย. มีความห่วงใยต่อเด็กไทยที่ยังพบปัญหาฟันตกกระ โดยเฉพาะเกิดขึ้นในเด็กช่วงวัย 1 - 6 ขวบ ที่อยู่ในระหว่างการสร้างฟัน โดยพบอาการฟันตกกระในเด็กที่อาศัยแถบจังหวัดภาคเหนือมากที่สุด รองลงมาในเขตพื้นที่ภาคกลาง และภาคใต้

ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดฟันตกกระในเด็ก กระทรวงสาธารณสุข จึงออกประกาศ เรื่อง น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ลงวันที่ 23 เมษายน 2553 โดยปรับข้อกำหนดปริมาณฟลูออไรด์ของน้ำบริโภคจาก 1.5 มิลลิกรัมต่อลิตร เป็น 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2553

สำหรับผู้ผลิตและนำเข้าน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุปิดสนิทที่ได้รับการจดทะเบียนรายละเอียดของอาหารไว้แล้วก่อนหน้านี้ ต้องปรับปริมาณฟลูออไรด์ ให้เป็นไปตามประกาศฯ ฉบับนี้ ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2553 เป็นต้นไป ทั้งนี้ หากพบน้ำดื่มบรรจุขวดมีคุณภาพหรือมาตรฐานไปเป็นไปตามประกาศ เข้าข่ายเป็นอาหารผิดมาตรฐาน มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท

ที่มา bestbuycondo
ที่มา www.tnnthailand.com

แสดงความคิดเห็น

Designed by OddThemes | Distributed by Gooyaabi Templates